วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รัชกาลที่ ๔



              พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17ตุลาคม พ.ศ. 2347 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี
สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงได้ศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ในการที่จะเป็นประโยชน์แก่การปกครองในอนาคต วิชาที่ทรงศึกษา ได้แก่ ตำราพิชัยสงคราม การฝึกหัดอาวุธ วิชาคหกรรม วิชาโหราศาสตร์โดยเฉพาะวิชาภาษาต่างประเทศ พระองค์ทรงโปรดศึกษามากเป็นพิเศษ อีกทั้งสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีพระทัยสนใจในด้านพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ เมื่อพระชนมายุครบผนวช ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2367โดยมีองค์สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับพระฉายาว่า
“วชิรญาณภิกขุ” ทรงประทับ ณ วัดมหาธาตุอยู่นาน 3 วัน แล้วจึงเสด็จไปจำพรรษาที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
หลังจากนั้นอีกเพียง 2 สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถทรงเสด็จสวรรคต แต่มิได้ทรงตรัสมอบพระราชสมบัติให้กับผู้ใด พระบรมวงศานุวงศ์จึงประชุมและลงมติในที่ประชุมว่า ควรอัญเชิญ พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบเทนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎจึงมิได้ทรงลาผนวช และทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ 3 ทำให้ทรงมีเวลามากมายในการศึกษาหาความรู้ในวิชาการแขนงต่าง ๆ จนแตกฉาน โดยเฉพาะทรงมีโอกาสได้ศึกษาวิชาภาษาต่างระเทศจากบาทหลวง และมิชชันนารีที่เข้าเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ทำให้สามารถทรงพระอักษรและตรัสภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการบริหารประเทศเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ทรงตรัสเวนคืนพระราชสมบัติให้แก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชสำนักชั้นผู้ใหญ ว่าจะเห็นควรให้ผู้ใดขึ้นครองราชสมบัติสืบแทนพระองค์ บรรดาข้าราชการและข้าราชสำนักจึงประชุม และมีมติอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามงกฎขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตรย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยขณะนั้นพระองค์ยังทรงผนวชอยู่จึงจำเป็นต้องลาผนวชในเวลานั้นเอง
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้ว ทรงสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีฐานะเทียบเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระเทพศิริน-ทรา บรมราชินี ทรงมีพระนามเดิมว่า รำเพย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 82 พระองค์ โดยประสูติจากพระอัครมเหสี 3 พระองค์ ได้แก่
1.สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
2.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา
3.สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ประสูติเมื่อ 13 มกราคม พ.ศ. 2399 เป็นต้นราชสกุล จักรพันธุ์สิ้นพระชนม์เมื่อ 11 เมษายน พ.ศ. 2443
4.สมเด็จเจ้าฟ้าชายภาณุรังษีสว่างวงศ์ ประสูติเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 เสด็จทิวงคตเมื่อ13 มิถุนายน พ.ศ. 2470
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 เนื่องจากเมื่อทรงเสด็จกลับจากเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงประชวรด้วยโรคไข้ป่า และเสด็จสวรรคตเมื่อเสด็จถึงพระบรมมหาราชวัง รวมมีพระชนมายุ 64 พรรษาระยะเวลาที่ทรงครองอยู่ในราชสมบัตินาน 17 ปีเศษ


การเมืองการปกครอง

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวเช่นที่เคยทำมา ต้องยอมทำการค้ากับต่างประเทศและรับความคิดเห็นใหม่ ๆ แก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีอันล้าสมัย ประมุขของประเทศไทยในภายภาคหน้าจำต้องศึกษาถึงความละเอียดอ่อน ตามความคิดเห็นทางวิทยาการทูต และการปกครองบ้านเมืองแบบตะวันตก ทรงตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต้องทำไปอย่างรวดเร็ว สิ่งใดที่ชาติตะวันตกทำมาเป็นเวลาร้อยๆ ปี ประเทศไทยต้องทำให้ได้ในระยะเร็วกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของพระองค์เป็นการปฏิวัติที่แปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเหตุว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากประชามติหรือเกิดจากความยินยอมของคณะก้าวหน้าหนุ่มที่บังคับเอาจากพระเจ้าแผ่นดิน หากเกิดจากพระองค์เองซึ่งเป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดินและผู้นำคณะก้าวหน้าไปพร้อมกัน ตลอด 17 ปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนโฉมหน้าทั้งหมดของประเทศไทย (กริสโวลด์ 2511 : 2-3) 
     การที่พระราชาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงยอมเสียสละอย่างเต็มพระราชหฤทัย เพื่อปรับปรุงประเทศไปสู่รากฐานประชาธิปไตยสมัยใหม่ ในขณะที่ราษฎรของพระองค์เองไม่ได้เคยนึกฝันถึง สิ่งนี้เลย โดยทฤษฎีพระราชาแห่งประเทศไทย ทรงปกครองแผ่นดินตามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงเป็นเจ้าชีวิต และประชาชนก็เป็นสมบัติของพระองค์ หากพระองค์มิได้ทรงคิดเช่นนั้น ทรงเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะเป็น "มนุษย์" มากขึ้น ไม่ใช่เทพศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์ย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ตามวิสัยแห่งมนุษย์ เมื่อถูกยกย่องให้เป็น "เจ้าชีวิต" ก็ควรเป็นเจ้าชีวิตที่วางตัวดุจบิดามารดาอันเป็นที่พึ่งของราษฎร พระองค์ทรงวางรากฐานให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ความสุภาพ อ่อนน้อม ถ่อมตน ความสำนึกในหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่พึงมีต่อผู้ใต้การปกครอง (นฤมล ธีรวัตร 2525 : 202) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงอยู่ในภาวะของภิกษุถึง 27 พรรษา ทำให้ทรงทราบความจริงว่า สังฆภาวะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และพระองค์ได้เสด็จธุดงค์โดยพระบาทเป็นทางไกลไปในถิ่นต่างๆ ของประเทศ ทำให้ทรงเข้าถึงประชาชน เข้าพระทัยในประชาชน ทรงทราบความต้องการของประชาชนเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ยากที่ผู้ปกครองประเทศโดยทั่วไปจะสามารถทำได้ และการเสด็จธุดงค์ของพระองค์ ทำให้ทรงมีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ๆ ไม่เคยกระทำ ทำให้พระองค์ทรงใกล้ชิดกับประชาชน ทรงสนทนากับประชาชนซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ของชาติไทย จากที่ทรงได้เห็นและทรงทราบความจริงเหล่านี้ ทำให้พระองค์ทรงตระหนักดีว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจะทรงทำอย่างไร หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น หากแต่การนำเอาความคิดอ่านและวิธีการแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในเมืองไทยในขณะนั้น เกิดอุปสรรค 2 ประการ คือ
     1. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ในระยะแรกนั้น ข้าราชการ ชั้นสูงส่วนมากยังนิยมการปกครองแบบเก่า มีบุคคลน้อยมากที่เข้าใจในเหตุผลของพระองค์ ที่ทรงต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแบบเก่าไปเป็นแบบตะวันตก และถ้ามีผู้ไม่เห็นชอบในพระบรมราโชบายที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็จะเกิดความขัดแย้ง อันจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปรับปรุงประเทศ
     2. หลักการการปกครองของชาวตะวันตก ที่จะนำมาแก้ไขปรับปรุงใช้ในประเทศไทย อาจจะไม่เหมาะกับบ้านเมืองตะวันออก และขัดกับหลักการ ปกครองของไทยในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมี ข้าราชการประเภทอนุรักษ์นิยมในขณะนั้น ยังเห็นว่า บ้านเมืองที่ปกครองแบบเก่านั้นยังก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดีอยู่แล้ว เมื่อเกิดความคิดขัดแย้งขึ้นเช่นนี้ พระองค์ทรงไม่แน่พระทัยว่า พระราชดำริในการเปลี่ยนแปลงของพระองค์ กับการใช้การปกครองบบเก่าโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไหน จึงจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ปัญหานี้ยังไม่มีผู้รอบรู้ที่พอจะถวายความคิดเห็นแก่พระองค์ได้ (ดำเนิร เลขะกุล 2525 : 169-170)
     ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำเนินพระบรมราโชบายในการปกครองประเทศ เป็นสายกลางมีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก แม้ในส่วนของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นพระมหากษัตริย์แบบตะวันตกและ ตะวันออก ลักษณะที่เป็นตะวันตกนั้น เป็นสิ่งประดับให้มีอารยธรรมยิ่งขึ้น ส่วนลักษณะที่เป็นตะวันออกนั้น คือ การวางพระองค์ประดุจดังบิดาของประชาชน

        ด้านการศึกษา

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจ้างแหม่มแอนนา เลียวโนเว็นส์ หญิงหม้ายชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์เข้าสอนภาษาอังกฤษให้แก่พระราชโอรสในพระบรมมหาราชวัง ด้วยตระหนักว่าต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศไทยมากขึ้น จำเป็นที่ต้องเข้าใจภาษาต่าง ประเทศในการติดต่อกับต่างประเทศ


ด้านดาราศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์อย่างมากอีกแขนงหนึ่ง ทรงสามารถคำนวณวันเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคาล่วงหน้าถึง 2 ปี ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยทรงพยากรณ์การเกิดสุริยุปราคาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ. 1 2411 (วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2411) เวลาตั้งแต่ 10.85 น. ถึง 11.30 น. เป็นสุริยุปราคามืดเต็มดวงตั้งแต่เมืองปราณบุรีลงไปจนถึงเมืองชุมพร และสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ณ บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามพิกัดภูมิศาสตร์ที่ 99 องศา 40 ลิปดา 20 พิลิปดาตะวันออก เส้นรุ้ง 11 องศา 41 ลิปดา 40 พิลิปดาเหนือจะเห็นดวงจันทร์เข้าจับดวงอาทิตย์จากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วออกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 11.42 นาฬิกา ซึ่งพระองค์ได้เสด็จไปพักแรม ณ-บริเวณดังกล่าวด้วย เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาโดยมีชาวต่างประเทศที่ทราบข่า เช่น เวอร์แฮรี่ ออด เจ้า-เมืองสิงคโปร์ และคณะดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสร่วมโดยเสด็จเพื่อสังเกตการณ์ด้วย และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่ทรงคำนวณไว้โดยแม่นยำ ถือว่าทรงเป็นนักดาราศาสตร์ชาวไทยคนแรก โดยประชาชนชาวไทยได้ถวายพระราชสมัญญานามให้พระองค์เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” โดยกำหนดให้วันที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิด – สุริยุปราคาเป็นวันวิทยาศาสตร์ประจำชาติด้วย
นอกจากนี้ ในแผ่นดินของพระองค์ได้มิดาวหางปรากฏมาถึง 3 ดวง ด้วยกัน ได้แก่
1. ดาวหางฟลูเกอร์กูส์ (FLAUGERGUES) ค้นพบเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2353 โดยชาวฝรั่งเศลชื่อ ฟลูเกอร์กูส์ ดาวหางดวงนี้มีคาบวงโคจร 3094 ปี เมื่อดาวหางดวงนี้มาปรากฏ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวทรงจำได้ว่าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์นั้นทรงได้ทอดพระเนตรเห็นดวงหางดวงนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว และได้ทรงศึกษาเรื่องราวของดาวหางดวงนี้จากหนังสือของนักดาราศาสตร์ชาวต่างประเทศ จึงได้มีพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับดาวหางว่า “ดาวหาง………เป็นของโคจรไปมานานหลายปี แล้วก็กลับมาให้เห็นในประเทศข้างนี้อีก กล่าวคือดาวหางกลับมาเป็นรอบ ๆ นั้นเอง”
2. ดาวหางโดนาติ (DONATI) เป็นดาวหางดวงใหญ่ ค้นพบครั้งแรกเมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2401 มีคาบโคจร 1950 ปี ค้นพบโดยชาวอิตาลี ชื่อ โดนาติ และมาปรากฏให้ชาวไทยได้เห็นในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าประชาชนจะพากันตกในจึงทรงออก “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าวิตก” โดยอธิบายว่าดาวหางเป็น ปรากฏการณ์ธรรมชาติเท่านั้น
3. ดาวหางเทบบุท (TEBBUTT) ค้นพบโดยชาวออสเตรเลีย ชื่อ เทบบุท เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2404 มีคาบโคจร 409.4 ปี ดาวหางเทบบุทเป็นดาวหางดวงใหญ่ หางยาวและสว่างกว่าดาวหางโดนาติ และมาปรากฏให้ชาวไทยได้เห็นในปีเดียวกันนั้น ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นกลัวจนกล่าวขานกันว่าอาจเกิดเหตุการณ์อาเพทอย่างใดอย่งหนึ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ “ประกาศดวงหางปีระกาตรีศก” ออกประกาศล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นกลัว พร้อมด้วยทรงแนะนำอุบายต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น หากเกรงว่าปีนั้นจะเกิดความแห้งแล้งก็รีบปลูกข้าวเสียตั้งแต่ต้นฤดูฝน หรือหากตื่นกลัวไข้ทรพิษระบาดก็ให้ – ประชาชนรีบไปรับการปลูกฝี และรักษาความสะอาดของบ้านเมืองที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค
ในปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้าง พระที่นั่ง – ภูวดลทัศไนย เพื่อให้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตราฐานของไทย พระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นอาคารทรงยุโรปสูง 5 ชั้น ด้านบนติดนาฬิกาใหญ่ทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่บนเส้นแวงที่ 100 องศา 29 ลิปดา ตะวันออกซึ่งถือว่าเป็น ตำแหน่งทางวิทยาศาสตร์ชุดแรกของไทย



     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของแสนยานุภาพทางการ
ทหาร เพราะเป็นที่มาของอำนาจเหนือเมืองทั้งปวง พระองค์ทรงแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : 34 อ้างถึงใน นฤมล ธีรวัฒน์ 2525 : 174)
     "... อนึ่งธรรมเนียมมนุษย์ทุกวันนี้ เมืองใดปืนใหญ่น้อย กระสุนดินดำ มีอยู่มากเป็นกำลังใหญ่แล้ว เมืองนั้นก็เป็นเมืองหลวง มีอำนาจแผ่ทั่วทิศไกลไปร้อยโยชน์สองร้อยโยชน์ จนถึงนานาประเทศที่ใกล้เคียงซึ่งมีกำลังน้อยกว่า ก็ต้องมาขออ่อนน้อมเสียส่วยเสียบรรณา
การให้ อันนี้เป็นธรรมดามนุษย์ในแผ่นดิน..."


     โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักว่าประเทศต่าง ๆ ในบริเวณเอเชียนี้กำลังถูกคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังอยู่ในแผนการยึดครองของฝรั่งเศสและอังกฤษ ฉะนั้นจึงทรงต้องปรับปรุงกิจการทหารของประเทศให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยอย่างรีบด่วนพร้อมกันหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดกำลัง การจัดหาอาวุธ การฝึก และยุทธวิธี และทรงทอดพระราชภาระให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) ในด้านการฝึกอบรมทหารปืนใหญ่ และทรงช่วยปรับปรุงกองทัพบกให้เป็นหน่วยทหารแบบตะวันตก ส่วนหน่วยทหารราบนั้นมีพระราชประสงค์ จะได้นายทหารอังกฤษมาช่วยปรับปรุงและฝึกอบรม จึงทรงเลือกจ้างร้อยเอกชาวอังกฤษ ทหารนอกราช-การของกองทัพอังกฤษเข้ารับราชการเป็นนายทหารฝรั่งคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อร้อยเอก อิมเปย์ (Impey) ได้รับมอบหมายให้ฝึกทหารในกรมอาสาลาวและเขมร ในพระบรมมหาราชวัง ให้จัดเป็นกองร้อย เรียกว่า "ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป" หรือ "ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง" การฝึกสอนทหาร ได้จัดระเบียบแบบแผน และฝึกสอนทางบกเป็นครั้งแรก ตามแบบอย่างทหารอังกฤษ มีการแบ่งแยกเป็น กองพัน กองร้อย หมวดหมู่ มีผู้บังคับบัญชา ชั้นนายพัน นายร้อย นายสิบ ลดหลั่นกันลงมา และ เรียกขานเป็นคำอังกฤษ เพราะผู้สอนไม่อาจแปลคำเป็นภาษาไทย ทหารพวกนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ทหารเกณฑ์หัดอย่างอีหรอบ" ในขั้นต้นได้จัดเหล่าทหารรักษาพระองค์ โดยแบ่งออกเป็นสองกอง เรียกว่า กองทหารหน้า และกองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกวังหลวงเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้กองทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปหรือกองทหารรักษาพระองค์เป็นทหารประจำพระองค์ ผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวรรักษาพระราชฐาน การบังคับบัญชากองทหารทั้งสองนี้ แบ่งเป็นกองร้อย หมวด และหมู่ ซึ่งได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน (รอง ศยามานนท์ 2525 : 530)
     ต่อมามีนายทหารนอกราชการของกองทัพบกอังกฤษ ชื่อร้อยเอก โทมัส ยอร์ช น๊อกซ์ (Thomas George Knox) และเป็นเพื่อนร้อยเอก อิมเปย์ ได้สมัครเข้ารับราชการ พระองค์ทรงส่งไปช่วยฝึกทหารบกและทหารเรือในวังหน้า ซึ่งภายหลังได้ลาออกไปเป็นกงสุลเยเนอราลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริว่า พระราชาในต่างประเทศนั้น ต่างนิยมมีกองทหารประจำพระองค์กันทั้งนั้น โดยถือเป็นพระเกียรติยศสำหรับพระมหากษัตริย์ซึ่งจำเป็นต้องมี และให้มีขึ้นตามความนิยมอย่างต่างประเทศเหล่านั้น โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิมและกองทหารหน้าขึ้น และอาศัยที่พระองค์ทรงชินต่อการสมาคมกับฝรั่งเป็นอย่างดี จึงทรงตั้งกองทหารอื่น ๆ เอาอย่างต่างประเทศให้สมกับที่บ้านเมืองเจริญขึ้นแล้ว
     ในปี พ.ศ. 2395 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทหารเพิ่มขึ้นอีก 2 กอง คือกองรักษาพระองค์อย่างยุโรป (กองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม) และ กองปืนใหญ่อาสาญวน เพื่อทดแทนอาสาญวนเข้ารีตที่โอนไปขึ้นกับกรมพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) ส่วนทหารมอญที่เคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมนั้น โปรดเกล้าฯ ให้คงอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทหารพวกนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2514 : 159) ทหารที่ได้รับการฝึกและจัดแบบตะวันตก มีดังนี้
     1. กองรักษาพระองค์อย่างยุโรป
     2. กองทหารหน้า
     3. กองปืนใหญ่ อาสาญวน
ทหารบกต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นต้นเดิมของทหารบกที่มีต่อมาจนทุกวันนี้
     พ.ศ. 2397 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทหารล้อมพระราชวัง ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศทรงกำกับทหารกองนี้
     พ.ศ. 2398 โปรดเกล้าฯ ตั้งพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทหารหน้า
ผู้บัญชาการองค์นี้ทรงปรับปรุงการตั้งกองทหารไว้ตามหน่วยต่าง ๆ มารวมที่สนามชัย คือ
     1. กองทหารฝึกแบบยุโรป
     2. กองทหารมหาดไทย (เกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ)
     3. กองทหารกลาโหม (เกณฑ์มาจากหัวเมืองฝ่ายใต้)
     4. กองทหารเกณฑ์หัด (พวกขุนหมื่นสิบยกในกรมต่าง ๆ คือ 10 คน ชักออกเสีย
1 คน)
     หลังจากปี พ.ศ. 2404 โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกองทหารอย่างยุโรปขึ้นอีกหลายอย่าง ต่อมา พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพเป็นผู้บังคับบัญชาคนใหม่ ครั้นถึงปลายรัชกาลที่ 4 นายน๊อกซ์ นายทหารอังกฤษขอลาออก จึงไม่มีนายทหารฝรั่งเหลืออยู่ในกองทัพ ทางราชการกองทัพจึงได้จ้าง นายทหารฝรั่งเศส ลามาช (Lamache) ต่อมาได้เป็นหลวงอุปเทศทวยหาญ ซึ่งมาแก้วิธีฝึกหัดทหารไทย และเปลี่ยนระเบียบการฝึกเป็นภาษาฝรั่งเศส เปลี่ยนไปได้ไม่นานก็สิ้นรัชกาล
     กิจการทหารไทยซึ่งได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ใน รัชกาลที่ 4 เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนสามารถจัดไปสมทบกับกองทัพที่ส่งไปปราบฮ่อ และเป็นแนวทางของการปรับปรุงกิจการทหารครั้งใหญ่อย่างกว้างขวางในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา


     ขณะทรงผนวชอยู่ทรงตั้งลัทธิสมณวงศ์ใหม่เรียกว่า "ธรรมยุติกนิกาย" ให้ถือปฏิบัติเอาแต่สิ่งที่ถูกตามพระวินัย "นิกายธรรมยุติ" ตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนาฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ทรงริเริ่มวางระเบียบแบบแผนดังนี้
     ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ ทรงปฏิรูปการเทศน์และการอธิบายธรรม
     ทรงเริ่มการเทศนาด้วยฝีพระโอษฐ์ ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเกิดศรัทธา
     ทรงเพิ่มบทสวดมนต์ภาษาไทยทรงกำหนดวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวางระเบียบในการเดินเวียนเทียน และสดับธรรมเทศนา ทรงแก้ไขการรับผ้ากฐินให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ คือเริ่มตั้งแต่ การซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน
     ทรงแก้ไขการขอบรรพชาและการสวดกรรมวาจาในการอุปสมบท ทรงวางระเบียบการครองผ้าของภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติไปตามหลักเสริยวัตรในพระวินัย พระองค์ทรงออกประกาศว่าด้วยการทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ประกาศห้ามมิให้พระสงฆ์บอกให้แทงหวยและประพฤติอนาจาร ประกาศห้ามมิไห้พระภิกษุสามเณรคบผู้หญิงมาพูดที่กุฏิ ประกาศพระราชบัญญัติเรื่องพระสงฆ์ สามเณรลักเพศ ทรงเห็นความสำคัญในการศึกษาหาความรู้สาขาอื่น ๆของพระสงฆ์ทรงอนุญาติ ให้พระสงฆ์เข้าศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวลล์ ทำให้มีการสืบสานการเข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน
     สำหรับถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา เช่น วัดวาอาราม ทรงบูรณะให้สมบูรณ์มากกว่าที่จะทรงสร้างใหม่ นอกจากจะทรงสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานแล้ว ทรงสร้างและจำลองพระพุทธรูปและส่งสมณฑูตไปลังกาเพื่อรวบรวมหลักฐานทางพระพุทธศาสนามาซ่อมพระไตรปิฎกที่ขาดไปให้ครบบริบูรณ์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องขาดและปิดทองขึ้น อีกทั้งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงนำพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมใช้แต่พิธีทางพราหมณ์ เช่น พระราชพิธีบรมราชภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระองค์ทรงพระราชทานความสนับสนุนแก่ศาสนาอื่น ๆ ในพระราชอาณาจักร เช่น ทรงพระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือลัทธินิกายตามความสมัครใจซึ่งไม่ผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง นอกจากนั้นยังทรงพระราชทานเงิน ที่ดินและวัตถุในการก่อสร้างสุเหร่าในศาสนาอิสลามและโบสถ์ในศาสนาคริสต์


     แนวนโยบายทางการเมืองดั้งเดิมของประเทศไทยนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศอื่น ๆ ทางตะวันออกทั่วไปในประเด็นที่ว่าพยายามแยกตนอยู่โดดเดี่ยวไม่มีการติดต่อกับต่างประเทศ
     ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2394 ถึง พ.ศ. 2411 เป็นระยะเวลาที่ประเทศมหาอำนาจในทวีปยุโรป อันได้แก่ ฝรั่งเศสและอังกฤษ เข้ามาแสวงหาอาณานิคมครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย และแข่งขันกันทั้งในด้านการค้าและการเมืองอย่างรุนแรง
     พระราชกรณียกิจทางด้านต่างประเทศ เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระประมุขพระองค์เดียวของประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ที่ทรงคิดได้ว่าวิธีเดียวที่ประเทศในทวีปเอเชียจะคงอยู่ได้คือ ต้องยอมรับเอาอิทธิพลทางอารยธรรมของประเทศตะวันตกมาปรับปรุงประเทศของตนให้ทันสมัย ต้องยอมเปิดประเทศทำการค้าและติดต่อกับต่างประเทศและรับความคิดเห็นใหม่ๆ พื่อเปิดโลกทรรศน์ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขประเพณีอันล้าสมัย ต้องศึกษาวิทยาการการทูตและการปกครองบ้านเมืองแบบตะวันตก (กริสโวลด์ 2511 : 1)
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเห็นว่าการดำเนินนโยบายแยกตนเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ติดต่อกับต่างประเทศนั้น ได้ก่อให้เกิดเหตุร้ายขึ้นแล้วแก่ประเทศเพื่อนบ้านในเวลานั้นประเทศทางตะวันออกกำลังจะล่ม เพราะต้องตกเป็นทาสเป็นเมืองขึ้นของชาวตะวันตกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ยอมประนีประนอมในการติดต่อกับประเทศมหาอำนาจที่ล่าอาณานิคม ทำให้ถูกบังคับจนต้องเสียเอกราชไป คงเหลือแต่ประเทศไทยอยู่ตรงกลางประเทศเดียวเท่านั้นในแถบนี้
     ขณะนั้นประเทศไทยยังขาดความรู้ทางวิทยาการตะวันตก ขาดกำลังรบสมัยใหม่ ยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังที่พระองค์ทรงระบายความในพระทัยถึงปัญหาของประเทศไทยไว้ดังนี้
     "ตามสภาพเท่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ประเทศเราได้ล้อมรอบไปด้วยประเทศที่มีกำลังอำนาจ 2 หรือ 3 ด้าน แล้วประเทศเล็ก ๆ อย่างเราจะเป็นประการใด ถ้าหากจะสมมุติเอาว่าเราได้ค้นพบเหมืองทองคำภายในประเทศของเราเข้า จนเราสามารถขุดทองมาได้หลายล้านชั่ง จนเอาไปขายได้เงิน มาซื้อเรือรบสักร้อยลำ แม้กระนั้นเราก็ยังจะไม่สามารถไปสู้รบปรบมือกับพวกนี้ได้ ด้วยเหตุผลกลใดเล่าก็เพราะเรายังจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ จากประเทศพวกนั้นเรายังไม่มีกำลังพอจะจัดสร้างสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง แม้ว่าเราพอจะมีเงินซื้อหามาได้ เขาก็จะเลิกขายให้กับเรา ในเมื่อเขารู้ว่าเรากำลังติดเขี้ยวติดเล็บจนเกินฐานะ ในภายภาคหน้าเห็นจะมีอาวุธที่สำคัญสำหรับเราอย่างเดียวก็คือ ปากของเราและใจของเราให้เพรียบพร้อมไปด้วยเหตุผลและเชาวน์ไหวพริบ ก็เห็นพอจะเป็นทางป้องกันตัวเราได้" (มอฟแฟ็ท 2520 : 33)
     นโยบายต่างประเทศของพระองค์ ให้ความสำคัญแก่ประเทศทางตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ในรัชกาลนี้ ประเทศไทยได้ทำสัญญากับนานาประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในบ้านเมือง ผลที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญา ก่อให้เกิดข้อดีและข้อเสียที่ตามมาในภายหลัง แต่เมื่อคำนึงถึงภัยที่จะเกิดในขณะนั้น ต้องนับว่าการตัดสินพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นสมควรอย่างยิ่งแล้ว (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 97)
     การที่ประเทศไทยต้องติดต่อทำสัญญากับชาติมหาอำนาจ ทำให้พระองค์ต้องทรงระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับประเทศที่ทำสนธิสัญญา พระองค์ทรงใช้นโยบายไม่ผูกมัดกับมหาอำนาจชาติเดียว แต่จะทรงใช้การถ่วงดุลย์กับประเทศมหาอำนาจหนึ่ง โดยมีสัมพันธภาพ กับประเทศมหาอำนาจอื่นด้วย (ผูกมิตรกับมหา อำนาจหนึ่งไว้คอนมหาอำนาจอื่น)
     สัญญากับนานาประเทศที่กล่าวถึงนั้น เริ่มจากสัญญาเบาริงซึ่งทำกับรัฐบาลอังกฤษ ต่อมาทำกับสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน นอรเว เบลเยี่ยม และอิตาลี ตามลำดับ การทำสัญญาเบาริงนี้ มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก เพราะเป็นการเปิดประเทศ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนประเทศใกล้เคียงที่ปิดประเทศ ไม่ยอมติดต่อกับต่างชาติ จนเกิดการใช้กำลังบังคับ พระองค์ทรงตระหนักว่า การสงครามได้พัฒนาขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในสงครามมีความสำคัญมากกว่าแม่ทัพ โดยทรงยกตัวอย่างสงครามอังกฤษกับพม่า ซึ่งในที่สุดพม่าก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 97) ความว่า
     "... แลฟังข่าวดูได้ยินว่า พวกเมืองอังวะเมื่อได้ยินว่า ในทัพอังกฤษเกิดความไข้มากลงรากชุมก็ดีใจ ว่าเทวดาช่วยข้างพม่า ฤาเมื่อแอดมิราลออสเตอร์แม่ทัพเรือผู้ใหญ่ในอังกฤษมาป่วยตายลงที่เมืองปรอน เห็นเรืออังกฤษทุกลำชักธงกึ่งเสาเศร้าโศรก คำนับกันตามธรรมเนียมเขา ก็ดีใจว่าแม่ทัพอังกฤษตายเสียแล้ว เห็นจะไม่มีใครบัญชาการ จะกลับเป็นคุณข้างพม่าฟังดูมีแต่การโง่ ๆ บ้า ๆ ทั้งนั้น เมื่อรบครั้งก่อนพม่าคอยสู้อังกฤษอยู่ได้แต่คุมเหงคุมเหงหลายวัน ครั้งนี้ไม่ได้ยินสักแห่งหนึ่งว่าพม่าต่อสู้อังกฤษอยู่ได้ช้าจนห้าชั่วโมงเลย..."
     พระองค์ทรงทราบดีว่า ประเทศไทยควรจะกำหนดแนวทางบริหารประเทศในรูปแบบใด จึงทรงดำเนินนโยบายเป็นไมตรี ด้วยท่วงทำนองถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะการแข็งขืนไม่เป็นประโยชน์อันใด และอาจเกิดสงครามขึ้นได้ ซึ่งไม่แน่ว่าประเทศไทยจะเป็นฝ่ายชนะ ในเมื่อข้อสำคัญที่ต่างประเทศต้องการ คือ ค้าขายก็ทรงเปิดให้มีการค้าขายโดยสะดวก ปัญหาอื่น ๆ ก็พลอยระงับไป ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศเป็นเมืองหน้า ทรงรับเป็นไมตรีทำหนังสือสัญญากับชาติฝรั่ง สัญญาในครั้งนั้น ได้ทำในนามของพระเจ้าแผ่นดินและประธานาธิบดี ผู้ปกครองประเทศนั้น ๆ เป็นความเสมอภาค ทรงใช้นโยบายการทูตเป็นเครื่องต่อรองความสำเร็จ และเมื่อไม่อาจใช้นโยบายการทูตเป็นเครื่องต่อรอง พระองค์จำพระทัยยอมเสียผลประโยชน์ตามที่ชาติมหาอำนาจเรียกร้อง การสูญเสียครั้งสำคัญในรัชสมัยของพระองค์ คือ การเสียดินแดนเขมรส่วนนอกให้แก่ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2406 และ พ.ศ. 2410 พระองค์ทรงยอมเสียขัตติย-มานะ พระเกียรติยศที่ไม่สามารถแสดงแสนยานุภาพปกป้องพระราชอาณาเขต ด้วยสงครามตามแบบพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน เพื่อแลกกับเอกราชที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด (นฤมล ธีรวัฒน์ 2525 : 277) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทรงอดกลั้นและขมขื่นพระราชหฤทัยมิใช่น้อย
     แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันดีทางการทูตกับชาติมหาอำนาจตะวันตก แต่พระองค์มิได้ทรงมีความไว้วางพระราชหฤทัยในความเป็นมิตรของประเทศเหล่านี้ หลังจากที่ทรงเห็นว่า ฝรั่งเศสพยายามใช้อิทธิพลช่วงชิงเขมรไปจากไทย โดยอ้างว่าฝรั่งเศสเป็นผู้สืบสิทธิญวนเหนือเขมร เขมรเคยเป็นประเทศราชของญวน ความไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในต่างชาติ ทรงแสดงออกได้ชัด เมื่อ พ.ศ. 2401 จากหลักฐานคำประกาศเทพยดาและพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่ามารับพลีกรรม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ม.ป.ป. : 43-46 อ้างถึงใน นฤมล ธีรวัฒน์ 2525 : 285) ความว่า
     "... ชาติใดน้ำใจพาลคิดการหาเหตุจะกระทำย่ำยีบ้านเมืองเขตรแดนสยามประเทศนี้ ขอพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงช่วยปกครองป้องกันซึ่งอันตราย ทั้งทวยเทพเจ้าทั้งหลายซึ่งเคยบริรักษ์พระมหานคร จงช่วยกำจัดหมู่ดัสกรให้อันตรธาน ถ้าคนนอกประเทศที่ทำปากหวาน แต่ใจคิดการจะ เหยียบย่ำข่มขี่พาโลโสคลุมคุมโทษ ทำให้ร่อยหรอประการใดๆ ก็ดี ขอให้ความประสงค์ของพวกคนที่เป็นศัตรูในใจที่นั้น กลับไปเปนโทษแก่พวกนั้นเองอย่าให้สมประสงค์..."


     พระปรีชาญาณที่ควรจะกล่าวถึงอีกเรื่องหนี่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการที่ทรงเป็นนักศึกษาค้นคว้าทั้งทางด้านประวัติ-ศาสตร์และโบราณคดี พระองค์ทรงกล่าวกับเซอร์ จอห์น เบาริง ว่า "ประวัติศาสตร์สมัยโบราณของประเทศไทยยังค่อนข้างมืดมน และเต็มไปด้วยนิยายอันเหลือเชื่อต่าง ๆ" (กริสโวลด์ 2511 : 67) แต่ พระองค์ไม่ทรงยอมให้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป ประวัติศาสตร์สมควรได้รับการสังคายนาเช่นเดียวกับพระไตรปิฎก พระองค์จึงทรงศึกษา ค้นหาวินิจฉัย เปรียบเทียบหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อให้เป็นหลักฐานต่อ ๆ มาปรากฏว่าพระองค์ทรงพระราช-นิพนธ์บทความวินิจฉัยประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราจึงได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนต้นของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก แม้ว่าบางครั้งพระราชวินิจฉัยของพระองค์จะใช้เป็นแนวทางในปัจจุบันไม่ได้ แต่พระราชวินิจฉัยเหล่านั้นก็เต็มไปด้วยความเฉลียวฉลาด มุ่งตรงไปยังผลอย่างแน่ชัดและเป็นการเริ่มต้นให้ได้ทราบก่อน ไม่เช่นนั้นเราคงไม่สามารถทราบประวัติศาสตร์ได้ดีถึงทุกวันนี้ (กริสโวลด์ 2511 : 68)
     เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้แต่งพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานั้น ทรงคำนึงถึงความถูกต้อง มีการตรวจสอบเอกสารจากที่ต่าง ๆ ได้มีพระราชหัตถเลขาขอหนังสือเรื่องคณะเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้มาเจริญทางพระราชไมตรีใน รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากเซอร์ จอห์น เบาริง (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 66) ความว่า
     "...เพื่ออนุโลมความคำขอของ ฯพณฯ ท่าน (เซอร์ จอห์น เบาริง : ผู้เขียน) ข้าพเจ้ากับน้องชายของข้าพเจ้า คือกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายเราคนหนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปรึกษากับฯพณฯท่านในนครนี้เมื่อเดือนเมษายนนั้น กำลังพยายามจะเตรียมแต่งพงศาวดารสยามอันถูกต้อง จำเดิมแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยา โบราณราชธานี เมื่อปี ค.ศ. 1350 นั้นกับทั้งในเรื่องพระราชวงศ์ของเรานี้ ก็จะได้กล่าวโดยพิสดาร ยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงมาให้ ฯพณฯ ท่านทราบในคราวนี้ด้วย
     เราได้ลงมือแต่งแล้วเป็นภาษาไทย ในขั้นต้นเราเลือกสรรเอาเหตุการณ์บางอย่าง อันเป็นที่เชื่อถือได้มาจากหนังสือโบราณว่าด้วยกฎหมายไทย และพงศาวดารเขมรหลายฉบับกับทั้งคำบอกเล่าของบุคคลผู้เฒ่าอันเป็นที่นับถือได้ซึ่งได้เคยบอกเล่าให้เราฟังนั้นด้วยหนังสือ ซึ่งเราได้ลงมือเตรียมแต่งและแก้ไขอยู่ในบัดนี้ ยังไม่มีข้อความเต็มบริบูรณ์เท่าที่เราจะพึงพอใจ...
     ข้าพเจ้าใคร่จะขอหนังสือ ฯพณฯ ท่านสักเล่ม 1 คือหนังสือเรื่องคณะเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสมาเจริญทางพระราชไมตรีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้ากรุงสยามแต่ก่อนนั้น ฉบับหมายเลขที่ 4 ในสมุดซึ่งส่งมาด้วยนี้... ข้าพเจ้าคิดว่าหนังสือเล่มนั้น บางหน้าบางตอนคงจะช่วยให้เราจะแต่งขึ้นใหม่นี้ได้ ในกรุงสยามนี้ก็มีจดหมายเหตุรายการหรือรายละเอียดแต่งขึ้นไว้ นับว่าเป็นจดหมายเหตุของคณะเอกอัครราชฑูต ในเมื่อกลับมาจากฝรั่งเศส แต่สำนวน และข้อความไม่เป็นที่พอใจที่เราจะเชื่อได้ เพราะว่าเป็นการกล่าวเกินความจริงไปมาก กับทั้งขัดต่อความรู้ภูมิศาสตร์ ซึ่งเรารู้อยู่ในเวลานี้ว่าเป็นการเป็นไปที่แท้ที่จริงแห่งโลกนั้นมาก ด้วยผู้แต่งจดหมายเหตุของคณะเอกอัครราชฑูตสยามในครั้งนั้น คงจะคิดว่า ไม่มีใครในกรุงสยามจะได้ไปดูไปเห็นประเทศฝรั่งเศสอีกเลย..."
     พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ได้มีประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวทางโบราณคดีหรือปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาออกมาระหว่างรัชกาลนี้ แม้ว่าจะมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเองแต่พระองค์ได้พระราชทาน พระราชดำริให้จัดทำขึ้น และยังได้ทรงมีรับสั่งให้จัดพิมพ์พระราชพงศาวดารสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1893 คราวเสียกรุง นอกจากนั้นยังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือข้อสังเกตย่อ ๆ เกี่ยวกับพระราชพงศาวดารสยามเป็นภาษาอังกฤษ ข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาอันมืดมนในประวัติศาสตร์เก่าแก่ก็ดี โบราณคดีก็ดี หรือขนบธรรมเนียมประเพณีก็ดี เหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อนักศึกษาที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเป็นอันมาก ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจึงได้เจริญแพร่หลาย แม้จนทุกวันนี้ใครจะศึกษา ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทย ก็ยังได้อาศัยพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้แทบทุกคน (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 2514 : 83)
     ในระหว่างที่เสด็จธุดงค์ในปี พ.ศ. 2376 ทรงค้นพบหลักศิลาจารึกที่สุโขทัย นครหลวงโบราณ หลักศิลานี้จารึกด้วยอักษรไทยรุ่นแรกที่สุดเท่าที่ค้นพบ เป็นหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1836 นอกจากนี้พระองค์ยังทรงค้นพบพระแท่นมนังคศิลาที่พ่อขุนรามคำแหง ทรงใช้เป็นที่ประทับและได้ทรงนำมาไว้ที่กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันได้ใช้พระแท่นนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้ง (ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช : 6-7 อ้างถึงใน มอฟแฟ็ท 2520 : 19)
     ระหว่างเสด็จธุดงค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณาซากเมืองสุโขทัย ทอดพระเนตรศาสนสถานอันใหญ่โตที่ปรักหักพังอยู่ในป่าต่าง ๆ โบราณสถานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นแบบขอมหรือไทยย่อมมีความหมายต่อประเทศ ถ้าสามารถรู้ถึงความหมายได้ พระองค์ทรงเชิญนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเข้ามาศึกษาซากโบราณสถานเหล่านี้ เพื่อค้นหาความลับในอดีตด้วยการใช้เทคนิคแบบใหม่ สิ่งนี้ นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและได้มีผลยิ่งขึ้นในรัชกาล ต่อ ๆ มา


พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงเริ่มจัดให้มีพิพิธภัณฑสถานขึ้นในประเทศไทย จากการรวบรวมวัตถุโบราณที่ทรงพบเก็บสะสมไว้ครั้งแรกจัดแสดงไว้ ที่พระที่นั่งราชฤดีต่อมาโปรดเกล้า ให้ย้ายไปจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ซึ่งได้รับการออกแบบอาคารตามลักษณะพระราชวังในยุโรป พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์หรือรอยัลมิว
เซียม คือ พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดแสดงเครื่องมงคลบรรณาการและโบราณวัตถุ จากที่จัดแสดงในประเทศไทยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำสิ่งของไปร่วมจัดแสดงในงานพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และงานพิพิธภัณฑ์นานาชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศษ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ส่งศิลปวัตถุโบราณของชาติไปแสดงถึงทวีปยุโรป

ในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมในรัชกาลนี้ได้หันความนิยมไปสู่แบบตะวันตกศิลปะช่างยุโรปได้แพร่หลายออกสู่วัดและวังเจ้านายจนกล่าวได้ว่า รัชสมัยของรัชกาลที่ 4 เป็นสมัยแรกของศิลปะตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิกใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมและใช้เสาแบบคลาสสิก โปรดให้นำมาประยุกต์ให้กลมกลืนกับของไทย อาทิเช่น
พระที่นั่งไชยชุมพล พระอภิเนาวนิเวศน์ พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกขปราสาท ฯลฯ นอกจากโปรดเกล้าให้สร้างพระอารามขึ้นใหม่ยังทรงปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โปรดเกล้าให้สร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธเจดีย์ โปรดเกล้าฯให้ สร้างป้อมขึ้นรอบพระมหาราชวัง ป้อมรอบเขตพระนครชั้นนอกและป้อมรอบพระนครคีรี โปรดเกล้าให้สร้างวัง พระราชวังสำหับเป็นที่ประทับและเสด็จประพาสต่างจังหวัด

การยอมรับอิทธิพลตะวันตกมาปรับปรุงประเทศมีผลกระทบต่อประติมากรรม ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง เช่นการปั้นรูปภาพราชานุสรณ์แบบเหมือนจริง ช่างประติมากรรมตะวันตกปั้นเลียนแบบจากพระบรมฉายาลักษณ์ จึงปั้นพระบรมรูปทรงพ่วงพีมีกล้ามพระมังสาแบบชาติตะวันตกไม่เหมือนพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯให้ช่างไทยทดลองปั้นถวายเลียนแบบพระองค์จริง พระบรมรูปองค์นี้นับเป็นการเปิดศักราชของวงการประติมากรรมไทย โดยการปั้นรูปราชานุสรณ์ แทนการสร้างพระพุทธรูปหรือเทวรูป มาสู่การปั้นราชานุสรณ์แบบเหมือนจริงเช่นปัจจุบัน และถือได้ว่าเป็นการปั้นพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยที่ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่เป็นครั้งแรกในวงการประติมากรรมไทย
     งานประติมากรรมด้านปั้นหล่อพระพุทธรูปในรัชกาลที่ 4 นิยมปั้นหล่อพระประทานเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก พุทธลักษณะพระพุทธรูปเป็นแบบเฉพาะมีลักษณะโดยรวมใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากขึ้น พระพุทธรูปที่งดงาม ในรัชกาลนี้คือ พระพุทธรูปนิรันตราย พระพุทธสิหิงค์ นอกจากยังมีประติมากรรมที่สำคัญอีกคือ องค์พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปประทับยืนขนาดเล็ก

จิตรกรรมไทยในสมัยรัชกาลนี้ได้นำวิธีเขียนภาพแบบตะวันตกมาผสมผสานโดยใช้ กฎ เกณฑ์ทัศนียวิทยามีระยะใกล้ - ไกลแสดงความลึกในแบบ 3 มิติ ตลอดจนการจัดองค์ประกอบให้บรรยากาศและสีสันประสานสัมพันธ์กับรูปแบบตัวภาพ เป็นจิตรกรรมไทยแนวใหม่แสดงสักษณะศิลปะแบบอุดมคติและศิลปะแบบเรียลลิสท์ จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลนี้คือ พระอาจารย์อินโข่งหรือขรัวอินโข่ง ผู้นำเอาจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ ผู้คนการแต่งกาย ตึก บ้านเมือง ทิวทัศน์ การใช้สี แสงเงาบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกในระยะและความลึก มาใช้อย่างสอดคล้องกับเรื่องที่ใช้แสดงออกเกี่ยวกับคติและปริศนาธรรม งานจิตรกรรมลักษณะนี้ศึกษาได้ที่พระ อุโบสถวัดบวรนิเวศน์วิหารหอราชกรมานุสรณ์ หอราชพงศานุสร นอกจากนี้ยังมีงานจิตกรรมอื่น ๆ เช่น ภาพช้าง ตระกูล ต่าง ๆ ในหิมพานต์ที่หอไตรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภาพชีวิตชาวบ้านที่พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา ภาพสาวมอญ จิตรกรรมบนบานหน้าต่างอุโบสถวัดบางน้ำผึ้งนอก พระประแดง

การคมนาคมการสื่อสาร
  การวางรากฐานการสื่อสารสมัยใหม่
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวางรากฐานการคมนาคมสมัยใหม่ พระองค์ทรงทราบเป็นอย่างดีว่า การคมนาคมเป็นสิ่งจำเป็นต่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการไปมาและการติดต่อค้าขาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนแบบฝรั่งขึ้น เพื่อใช้ในการคมนาคมได้สะดวกต่อการสัญจรไปมาของราษฎร การขนส่งลำเลียงสินค้า และยังเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง ทรงจ้างกรรมกรให้ขุดคลองเพื่อเป็นคลองขนส่งทางน้ำ และราษฎรได้อาศัยน้ำในลำคลองมาใช้ในการเพาะปลูก ตลอดจนเป็นเส้นทางเดินเรือกลไฟ (เรือโดยสาร) และเรือบรรทุกข้าว นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามคลองเชื่อมกับถนนด้วย
     ในรัชสมัยของพระองค์ ประชากรไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อแรกสร้างพระนครใหม่ ๆ หลายเท่า จากเอกสารที่เขียนโดย เซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ในหนังสือราชอาณาจักรและพลเมืองสยามว่า มีประชากรประมาณ 6 ล้านคน (รอง ศยามานนท์ 2525 : 305) เป็นผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางน้ำหรือทางบก และภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีแบบเบาริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา สถานกงสุลต่าง ๆ ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้หรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการติดต่อหรือเดินทางสัญจร ไปมาระหว่างคนต่างชาติกับคนไทย ประกอบกับพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของ การคมนาคม จึงได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้น ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ 2504 : 70 อ้างถึงใน รอง ศยามานนท์ 2525 : 308) ความว่า
     "... ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนก็มากกว่าเมื่อแรกสร้างกรุงเก่า ควรที่จะขยายพระนครออกไปให้ใหญ่กว้างขวาง อีกชั้นหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นกงสี จ้างจีนขุดคลองคูพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง ปากคลองข้างทิศใต้ออกไปริมวัดแก้วฟ้า ปากคลองข้างทิศเหนือออกไปริมวัดเทวราชกุญชร เป็นแนวขนานกับคลองรอบกรุง ซึ่งขุดไว้ครั้งรัชกาลที่ 1 คลอง กว้าง 10 วา ลึก 6 ศอก ยาว 137 เส้น 10 วา สิ้นค่าใช้จ่าย 391 ชั่ง 13 ตำลึง 1 บาท 1 เฟื้อง..."
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามคลองที่ขุดขึ้นว่า คลองผดุงกรุงเกษม นับเป็นคลองที่สำคัญ เป็นคลองที่ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาหล่อเลี้ยงพื้นที่สองฟากคลอง ทำให้เหมาะแก่การทำสวนยิ่งขึ้น และอาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ขยายพื้นที่ออกไป มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหรือประมาณ 5,552 ไร่ (กรมศิลปากร 2525 : 57) บริเวณระหว่างคลองรอบกรุงกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่นอกเมืองของประชาชน และเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวจีน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพระนคร อย่างไรก็ดีหลังจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเสร็จแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการคมนาคมทางเรือ
     ใน พ.ศ. 2400 กงสุลสหรัฐอเมริกาและกงสุลฝรั่งเศสได้เข้าชื่อรวมกับพ่อค้าชาวต่างประเทศ ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ว่า "เรือลูกค้าจะขึ้นมาค้าขายถึงกรุงเทพพระมหานครทางไกลนัก หน้าฤดูน้ำ ๆ ก็เชี่ยวแรงนัก กว่าจะขึ้นมาถึงกรุงเทพมหานครได้ก็เสียเวลาหลายวัน จะขอลงไปตั้งห้างซื้อขายใต้ปากคลองพระโขนงตลอดถึงบางนา ขอให้ขุดคลองลัดตั้งแต่บางนามาตลอดคลองผดุงกรุงเกษม" พระองค์ทรงปรึกษาเสนาบดี เสนาบดีต่างเห็นชอบและกราบบังคมทูลว่า "ถ้าชาวยุโรปยกกันลงไปตั้งอยู่ที่บางนาได้ก็จะห่างไกลออกไป ก็มีคุณอย่างหนึ่งด้วยความหยุกหยิกนั้นน้อยลง ถึงจะขุดคลองให้เดินเป็นทางลัดก็ควร" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยา รวิวงศ์มหาโกษาธิบดี อำนวยการขุดคลอง ตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบตัดทุ่งวัวลำพองริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งนอกลงไปถึงคลองพระโขนง และตัดคลองพระโขนงออกไปทะลุแม่น้ำใหญ่ เป็นคลองกว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก ยาว 207 เส้น 2 วา 3 ศอก และเอาดินมาถมเป็นถนนขนานไปกับคลอง สิ้นค่าใช้จ่าย 16,633 บาท พระราชทานนามว่า "คลองถนนตรง" เมื่อขุดคลองเสร็จ ชาวต่างประเทศมิได้ย้ายห้างร้านไปอยู่ที่บางนา แต่ประโยชน์ของคลองและถนนตรง ทำให้การเดินทางระหว่างพระนครกับหัวเมืองใกล้เคียงทางตะวันออกสะดวกขึ้น ประชาชนส่วนมากเรียกคลองและถนนนี้ว่า คลองวัวลำพอง ถนนวัวลำพอง ไม่นานก็มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม สะพานได้ชื่อว่า สะพานวัวลำพอง ชื่อวัวลำพองนี้ภายหลังเปลี่ยนเรียกเป็น หัวลำโพง (กรมศิลปากร 2525 : 58)
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ เริ่มต้นแต่แม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดชัยพฤกษมาลา จังหวัดนนทบุรี ไปทะลุแม่น้ำนครชัยศรี ยาว 684 เส้น สิ้นค่าใช้จ่าย 1101 ชั่ง 10 ตำลึง เมื่อขุดคลองนี้แล้ว โปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาที่พักอาศัยริมคลองหนึ่งหลังทุก ๆ ร้อยเส้น ที่ศาลาหลังระหว่างกลางคลอง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ผู้ดำเนินการขุดให้จารึกตำรายารักษาโรคต่าง ๆ ใส่แผ่นกระดานติดไว้เป็นการกุศล คนภายหลังจึงเรียกศาลาหลังนั้นว่า "ศาลายา" เป็นชื่อตำบลและสถานีรถไฟมาจนทุกวันนี้
     ต่อมา พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (เจ้าภาษีฝิ่น) เอาเงินภาษีฝิ่นขุดคลองตั้งแต่คลองบางกอกใหญ่ริมวัดปากน้ำไปถึงแม่น้ำนครชัยศรี ยาว 620 เส้น กว้าง 7 วา ลึก 5 ศอก สิ้นค่าใช้จ่าย 1,400 ชั่ง ชื่อ "คลองภาษีเจริญ" ในปีเดียวกัน ได้พระราชทานเงิน 400 ชั่ง รวมกับสมุหพระกลาโหมทูลเกล้าฯถวาย อีก 1,000 ชั่ง ให้ขุดคลองตั้งแต่แม่น้ำบางยาวเมืองนครไชยศรีถึงคลองบางนกแขวกเมืองราชบุรี ยาว 840 เส้น กว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก คลองนี้มีชื่อว่า "คลองดำเนิน สดวก"

ด้านการแพทย์

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับความเจริญทางด้านการแพทย์มาใช้ในราชสำนักของพระองค์ ด้านการแพทย์โปรดให้ใช้ทั้งการรักษาพยาบาลทั้งแบบไทยและแบบตะวันตก จะเห็นได้จากการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หมอการแพทย์สมัยใหม่ ถวายการรักษาสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้การผดุงครรภ์สมัยใหม่กับเจ้าจอมมารดาบางท่าน ที่แพทย์ไทยไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขได้
การพยาบาลหญิงที่คลอดบุตรในประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติกันในสมัยนั้น คือ การอยู่ไฟภายหลังการคลอดบุตร หญิงที่คลอดบุตรแล้วจะต้องนอนอยู่บนกระดานไฟ หันท้องไปผิงไฟที่จุดอยู่ในเตาถ่านร้อน กล่าวกันว่าจะทำให้มดลูกแห้ง แต่จะทำให้ผิวหนังพุพองเต็มไปหมดและต้องอยู่ไฟประมาณ 2-3 สัปดาห์ การอยู่ไฟจึงเป็นประเพณีซึ่งต้องกระทำหลังคลอดบุตรของสตรีในสมัยก่อน การอยู่ไฟนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงหมอบลัดเล (มอฟแฟ็ท 2520 : 187) ดังข้อความต่อไปนี้ว่า
     "ข้าพเจ้าขอบใจหมอด้วยใจจริง และด้วยความสำนึกในบุญคุณหมอที่ได้มารักษาแลให้ยาพระมเหสีอันเปนที่รักของข้าพเจ้า แลเปนพระราชมารดาของพระราชธิดาของข้าพเจ้า จนเธอได้ทรงรอดพ้นจากความตาย ข้าพเจ้าได้พิจารณาดูอาการแล้ว เห็นว่าบัดนี้เธอได้ทรงพ้นขีดอันตรายแล้ว...ข้าพเจ้ามีความเชื่อมาก่อนถึงเรื่องการรักษาพยาบาลทางวิชาหมอตำแยของอเมริกา และยุโรป แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่จะบอกว่า ข้าพเจ้ามิสามารถจะทำให้พระมเหสีของข้าพเจ้าเชื่อถือได้ จนเธอใกล้ขีดอันตราย แต่วิธีรักษาของท่านที่ได้เข้ามาสำแดงในพระราชวังนี้ ช่างมหัศจรรย์จริง ๆ..."
     หมอสมิทได้บันทึกว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามเลิกล้มความคิดของฝ่ายในที่ผู้หญิงจะต้องอยู่ไฟตั้งแต่ครึ่งเดือนถึงเดือนหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า ด้านพระองค์ทรงทำได้ พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นภายในพระราชวงศ์ของพระองค์ แต่ฝ่ายในไม่ทรงเห็นด้วยกับความคิดเห็นใหม่ ๆ ของพระองค์ ทางฝ่ายในอ้างว่าท่านเหล่านั้นเป็นฝ่ายมีประสูติการ มิใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชินี และไม่ทรงยอมอยู่ไฟ ทางราชสำนักจึงยอมละทิ้งแบบแผนที่ปฏิบัติกันมา" (สมิท : 59 อ้างถึงใน มอฟแฟ็ท 2520 : 186)
     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระทนต์ปลอมไม่ต่ำกว่า 3 ชุด ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ต้องสูญเสียพระทนต์ทั้งหมด ทรงสวมพระทนต์ล่างปลอมทำด้วยไม้ฝางซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ไม่ทราบชื่อผู้ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อมาใน พ.ศ. 2397 หมอบลัดเลได้ทูลเกล้าฯถวายพระทนต์ปลอม ซึ่งเป็นของบรรณาการจาก หมอ ดี เค ฮิทซ์คอค (Dr. D.K. Hitchcock) แห่งเมืองบอสตัน แต่พระทนต์ปลอมชุดนั้นทรงสวมได้ไม่สนิท และใน พ.ศ. 2410 ทันตแพทย์ชื่อ หมอคอลลินส์ (Dr. Collins) เดินทางจากประเทศจีนผ่านจากสิงคโปร์เข้ามากรุงเทพฯ หมอคอลลินส์ได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานเงินถึงพันเหรียญให้แก่ผู้ที่ประกอบพระทนต์ปลอมอย่างดีถวายแด่พระองค์ 1 ชุด หมอคอลลินส์ต้องประสบปัญหาที่พระองค์ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้หมอแตะต้องพระโอษฐ์ เนื่องในการที่จะต้องนำขี้ผึ้งเข้าไปพิมพ์แบบ หากแต่มีพระราชประสงค์จะทรงทำแบบด้วยพระองค์เอง จึงทำให้แบบพิมพ์ไม่สมบูรณ์ พระทนต์ปลอมที่หมอคอลลินส์ทำจึงสวมไม่พอดีกับพระโอษฐ์ ในที่สุดจึง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หมอคอลลินส์ นำขึ้ผึ้งพิมพ์แบบในพระโอษฐ์ได้ และพระทนต์ ปลอมชุดใหม่ที่ทำขึ้นก็เป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระองค์ทรงยอมรับความเจริญทางทันตแพทย์ของชาติตะวันตก
     ในบางครั้ง พระองค์ก็ทรงใช้ยาจากต่างประเทศ จะเห็นได้จากทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์ (มอฟแฟ็ท 2520 : 216) ความว่า
     "...ข้าพเจ้ามีความจำเป็นอยากได้ยาแก้ไอมากกว่า 1 ขวด อย่างที่จัดส่งมาให้เมื่อไม่นานมานี้ ใคร ๆ ก็อยากได้ไปจิบ ข้าพเจ้าอยากได้มาอีกสัก 1 โหล หรือเพียง 6 ขวดก็ยังดี... ขอให้ได้อย่างของแท้..."

ขอบคุณที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น