วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รัชกาลที่ ๙



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดล อันเป็นสายหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์ พระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐
เหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี กำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น ใกล้สถานที่พระราชสมภพ มีจัตุรัสแห่งหนึ่งซึ่งนายกเทศมนตรีเมืองเคมบริดจ์ ขอพระราชทานพระนามว่า “จัตุรัสภูมิพลอดุลยเดช” (King Bhumibol Adulyadej Square) เพื่อเป็นเกียรติแก่เมืองเคมบริดจ์ และโรงพยาบาลอันเป็นที่พระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จไปทรงรับมอบในพิธีอุทิศจัตุรัสเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ไปทรงเปิดผ้าแพรคลุมป้ายแผ่นจารึกพระราชประวัติ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระโอรสองค์ที่ ๓ ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาล ตะละภัฎ (ชูกระมล) (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงมีพระนามขณะนั้นว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า เล็ก
พระนาม ภูมิพลอดุลเดช ได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยทรงกำกับตัวสะกดภาษาอังกฤษว่า Bhumibala Aduladeja โดยในระยะแรกสะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมาทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" ทรงเขียนทั้งสองแบบ จนมานิยมใช้แบบหลัง ซึ่งมีตัว "ย" สะกด มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุไม่ถึง ๒ ปี


ด้านการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อเจริญพระชนมายุได้ ๕ ปี เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี-ซือ-โลซาน
พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ผู้เป็นพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุยเดช เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศไทย เป็นเวลา ๒ เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง


พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในปีถัดมา โดยประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์


เสด็จขึ้นครองราช


วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน โดยต้องพระแสงปืน ที่พระกระหม่อม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้ตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหา กษัตริย์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงทรงอำลา ประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสังคม ศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศการตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยและคนไทยคลายความโศกเศร้า จากการที่ต้องเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยได้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะอุทิศ พระวรกาและพระราชหฤทัยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะทรงครองราชสมบัติเฉพาะในช่วงการจัดงานพระบรมศพของพระบรมเชษฐาเท่านั้นเพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไป ยังสนามบินดอนเมือง เพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน" ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้" เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจว่าต่อมาอีกประมาณ ๒๐ ปี ขณะทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด ทรงได้พบชายผู้ร้องตะโกนคนนั้น ชายผู้นั้นกราบบังคมทูลว่า ที่เขาร้องตะโกนออกไปเช่นนั้นเพราะรู้สึกว้าเหว่และใจหาย เขาเห็นพระพักตร์เศร้ามาก จึงร้องไปเหมือนคนบ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"


พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
       แม้ว่าบทบาทของพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
จะลดลงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ยังคงพยายามปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
จะเห็นได้จากการที่พระองค์ไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อที่จะทรงมีโอกาสได้รับทราบถึงทุกข์สุข
และสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ซึ่งทำให้พระองค์ทรงพบว่าประชาชนชาวไทยส่วนมากมีปัญหาในเรื่องฐานะความเป็นอยู่
ซึ่งจะต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการจัดการและพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม
ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริมและอื่น ๆ
ด้วยเหตุนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการตามพระราชประสงค์จึงได้เกิดขึ้นอย่างมากมายกว่า 2,000 โครงการ
ซึ่งล้วนแล้วแต่เพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎร์ทั้งสิ้น


        ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริพร้อมกับได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

เป็นทุนริเริ่มในการจัดสร้างโรงเรียนและวัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อาทิเช่น โรงเรียนตามวัดต่าง ๆ
โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนราชประชาสมาสัย กองทุนนวฤกษ์ มูลนิธิอานันทมหิดล
ศาลารวมใจ โครงการพระดาบส โครงการสารานุกรมไทย และอื่น ๆ


        ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ทรงฟื้นฟูสืบทอดประเพณีหลายอย่างเพื่อเป็นขวัญ เช่น

พระราชพิธีจรดพระนั่งคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น


         ด้านศาสนา ทรงออกผนวชตามพระราชประเพณี เมื่อพุทธศักราช 2495 ทรงอุปถัมภ์การทำนุบำรุงศาสนาทุกด้าน

 เช่น การสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น การทอดกฐิน ผ้าป่า และการบำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทุก ๆ ศาสนาที่ประชาชนนับถือ


        นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9

 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระประมุขของชาติ
ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถและพระวิริยะอุตสาหะ ในการปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานับปการ
เพื่อนำประโยชน์และความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ประชาชนชาวไทยและความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติมาโดยตลอด


        ในปีพุทธศักราช 2549 เป็นปีมหามงคลอันประเสริฐที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี

พสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างปลื้มปิติโสมนัสเปี่ยมด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ
จึงได้ขอพระราชทานจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ขึ้นตามโบราณราชประเพณี ด้วยความกตัญญูกตเวทิตา
และนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานชื่อการจัดงานและชื่อพระราชพีธี ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
 พระราชทานชื่อการจัดงานนี้ว่า “การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ชื่อพระราชพิธีว่า
“ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ” ชื่อการจัดงานและชื่อพระราชพิธีภาษาอังกฤษว่า
 “ The Sixtieth Anniversary Celebrations of His Majesty’s Accession to the Throne ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น