วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รัชกาลที่ ๓



รัชกาลที่ 3 มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทับ” เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาเรียม ( กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ) ประสูติ ณ พระราชวังเดิม เมื่อ วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2330 พอพระชนมายุ ครบกำหนดโสกันต์ รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้จัดทำ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาได้บรรพชาและอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม 
เมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติแล้ว ในปี พ.ศ. 2356 ได้โปรดสถาปนาให้พระองค์เจ้าชายทับ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงกำกับราชการกรมท่า และเมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวร มหาเสนานุรักษ์ ทิวงคตแล้ว ก็ได้สิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชา กรมพระตำรวจทำหน้าที่ว่าความฎีกาต่าง ๆ อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2363 ได้เป็นแม่ทัพคุมพล 3,000 คนไปคอยป้องกันพม่าที่จะยกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์
เป็นเวลาปีเศษ แต่พม่าก็ไม่ยกทัพมา จึงได้เสด็จกลับ พระองค์ได้รับราชการเป็นที่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 2
เป็นอย่างดียิ่ง ในทุก ๆ ด้านและที่สำคัญคือเรื่องการค้าขาย ของกรมพระคลังสินค้าซึ่งทำรายได้ ให้กับประเทศอย่างมาก จนมีพระราชดำรัสล้อเรียกพระองค์ว่า “เจ้าสัว” 
ในปี พ.ศ. 2367 ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติเป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาศกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยคโรมนต์ สกลจักรวาลาธิเมนทรต์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณอกณิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราช เดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว) ขณะมีพระชนมายุ 37 พรรษา
ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัตินาน 27 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 รวมพระชนมายุ 64 พรรษา
พระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสิ้น 51 พระองค์



ด้านกวีและวรรณกรรม 

กวีคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นกวีที่สืบต่อมาจากสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ควรจะกล่าวถึงมีดังนี้
1. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้สนพระทัยในด้านการประพันธ์มากนัก ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ วรรณคดีไว้ ที่สำคัญ ได้แก่ บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนช้างตามนางวันทอง โคลงปราบดาภิเษก เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ทรงสนับสนุนวรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่เป็นผลงานของ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
2. สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ ปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวชสันดรชาดก 11 กัณฑ์ ( เว้นกัณฑ์มหาพนและมัทรี ) กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ลิลิตพยุหยาตราพระกฐินทางสถลมารคและชลมารค โคลงดั้นยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตำราฉันท์มาตราพฤตและวรรณพฤต พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
3. คุณพุ่ม เป็นกวีหญิงคนแรกของไทย เป็นนักโต้สักวา ชอบโต้สักวาเรื่องอิเหนา โดยคุณพุ่มเป็นฝ่ายบุษบา ด้วยเหตุที่คุณพุ่มมีบ้านอยู่บนแพริมน้ำมีความเชี่ยวชาญ ในการบอกบทสักวา จนได้รับสมญาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เพลงยาวเฉลิม พระเกีรติ ( แต่งในสมัย ร. 5 ) เพลงยาวบวงสรวงฉลองสระบางโขมด
4 . สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายมั่ง (พ.ศ. 2336-2402)เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย เป็นผู้ชำนาญในการ ประพันธ์โคลงสี่สุภาพ ผลงานที่สำคัญ คือ การชำระโคลงโลกนิต นิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์ โลกนิติคำโคลง
5. พระมหามนตรี ( ทรัพย์ )
แต่งบทละครสั้น ๆ ล้อเรื่องอิเหนาชื่อเรื่อง ระเด่นลันได โคลงฤาษีดัดตน เพลงยาวกลบทชื่อกบเต้นสามตอน เพลงยาวแคะไคล้พระมหาเทพ(ทองปาน)
6. คุณสุวรรณ เป็นกวีผู้หญิงอีกคนในสมัยนั้น แต่งเพลงยาวนิราศ เรื่องกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวร บทละครเรื่องพระมเหลเถไถและอุณรุทร้อยเรื่องในรัชกาลต่อมา
7. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายนวม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย พระองค์เจ้าชายนวมเป็นศิษย์ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เรื่องที่ทรงนิพนธ์ไว้ ได้แก่ โคลงจินดามณี โคลงนิราศพระประธมพระโทณ โคลงนิราศสุพรรณ
8. นายมี (หมื่นพรหมสมพัฒสร)
แต่ง นิราศถลาง นิราศเดือน นิราศพระแท่นดงรัง นิราศสุพรรณ



การปกครอง

การจัดการปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานี
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังคงใช้รูปแบบเดิมเหมือนสมัยรัชกาลที่ 2 กล่าวคือ
โปรดให้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ( พระปิตุลา ) ดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
ส่วนตำแหน่ง อัครมหาเสนาบดีทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนยังคงเป็นขุนนางที่ดำรงตำแหน่งในสมัยรัชกาลที่ 2 ในระยะแรกยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเลย จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2373 รัชกาลที่ 3 ได้โปรด ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ดำรงตำแหน่งสมุหนายก เจ้าพระยามหาเสนา ดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหม แต่ตำรงอยุ่ในตำแหน่งได้ไม่นานก็ถึงแก่อนิจกรรม จึงโปรดให้ เจ้าพระยาพระคลัง(พระยาสุริยวงษมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระคลังมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 2) รับผิดชอบราชการในตำแหน่งสมุหกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
                              โปรดฯ ให้ เจ้าพระยายมราช  ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล
                                              
เจ้าพระยาธรรมา   ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระธรรมาธิกรณ์
                                              
เจ้าพระยาพระคลัง ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลัง
                                              
เจ้าพระยาพลเทพ  ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระเกษตราธิการ
         การปกครองส่วนภูมิภาค หรือ การปกครองหัวเมือง ก็ยังคงใช้รูปแบบเดิมเหมือนในสมัยรัชกาลที่ 2
แบ่งออกเป็น การปกครองหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช
ประเทศราชหรือเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ ล้านนา (เชียงใหม่) ลาว (ล้านช้าง) กัมพูชา (เขมร) และหัวเมืองมลายู


ด้านศาสนา1 . การสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม
ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคของการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ อย่างมาก นับว่าเป็นสมัยที่ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก
วัดที่สำคัญได้แก่ วัดราชโอรสาราม ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3
วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี รัชกาลที่ 3 สร้างเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย ( แม่ )วัดเทพธิดาราม รัชกาลที่ 3 สร้างเพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ( ลูก )วัดราชนัดดาราม รัชกาลที่ 3 สร้างเพื่อเป็นเกียรติแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ( หลาน ) และยังสร้าง 
“โลหะปราสาท” ขึ้นแทนพระเจดีย์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีที่สงบเสงี่ยมสำหรับบำเพ็ญสมาธิ ในวัดนี้
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โปรดฯ ให้ซ่อมพระอุโบสถวัดพระแก้ว ในรัชกาลก่อน ๆ ได้มีการถวายเครื่องทรงพระแก้วมรกต เฉพาะฤดูร้อนและฤดูฝน ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ โปรด ฯ ให้ทำเครื่องทรงฤดูหนาวถวายอีกหนึ่งชุด จึงมีเครื่องทรงสำหรับพระแก้วมรกตครบทั้งสามฤดูในรัชกาลนี้ และยังโปรด ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปยืนสองพระองค์ทรงเครื่องกษัตริย์ไทย ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
องค์ที่ 1 สร้างถวายพระอัยกา ( รัชกาลที่ 1 ) ทรงถวายนามพระพุทธรูปนี้ว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
องค์ที่ 2 สร้างถวายพระบรมชนกนาถ ( รัชกาลที่ 2 ) ทรงถวายนามพระพุทธรูปนี้ว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ขณะนั้นคนไทยโดยทั่วไปเรียกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ว่า “แผ่นดินต้น” และเรียกรัชกาลที่ 2 ว่า”แผ่นดินกลาง” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าประชาชนจะเรียกพระองค์ว่าแผ่นดินสุดท้าย อันเป็นอัปมงคล จึงไม่ให้เรียกแผ่นดินต้น แผ่นดินกลางอีกและทรงถวายนามให้รัชกาลที่ 1 ว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”
รัชกาลที่ 2 ว่า “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”
วัดสระเกศ รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้สร้างพระวิหารใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส ซึ่งอัญเชิญมาจากจังหวัดพิษณุโลก และโปรดฯ ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นแม่กองจัดสร้างเจดีย์ภูเขาทอง โดยมุ่งหวัง จะให้ สูงใหญ่เหมือนเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา ( สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกว่า “บรมบรรพต” ) แต่ชาวบ้าน นิยมเรียกว่า “เจดีย์ภูเขาทอง”
วัดยานนาวา ( เดิมชื่อวัดคอกกระบือ ) รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างเจดีย์เป็นรูปเรือสำเภาขนาดเท่าของจริงขึ้นไว้ ในวัดนี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังจะได้รู้จักเรือสำเภาที่ใช้ในการค้ายขายสินค้ายังต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งได้โปรดให้ดำเนินการซ่อมและสร้างเพิ่มเติมอย่างมโหฬาร เมื่อปีพุทธศักราช 2379 สร้างเจดีย์เพิ่มเติมเคียงข้าง"พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" ที่สร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ข้างละองค์ถวายแด่พระบรมชนกนาถองค์หนึ่งนามว่า “พระมหาเจดีย์มุนีปัตตบริขาร” และเป็นส่วนของพระองค์เององค์หนึ่งนามว่า “พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกลกนิทาน”
พร้อมกับสร้างวิหารพระนอนขึ้นใหม่พร้อมด้วยพระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ ในการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ในครั้งนี้ ได้โปรดให้ประชุมบรรดานักปราชญ์ ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการต่าง ๆ แล้วให้ช่วยกันจารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ในวัด อาทิ ตำราแพทย์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย กลบท ฯลฯ โดยเหตุนี้ จึงมีคำกล่าวว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเมืองไทย 
2 . การชำระพระไตรปิฎก
มีการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้โปรดให้มีการชำระพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ให้ถูกต้องครบถ้วน จนได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมกว่าฉบับก่อน ๆ และโปรดให้จ้างอาจารย์สำหรับบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรทุกพระอารามหลวง
3. กำเนิด “ธรรมยุติกนิกาย”
ในสมัยนี้ได้มีพระพุทธศาสนานิกายใหม่เกิดขึ้นอีกนิกาย หนึ่งเรียกว่า “ธรรมยุติกนิกาย” ผู้ให้กำเนิด
คือสมเด็จพระน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งขณะนั้นกำลังผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” อยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) สาเหตุการกำเนิดพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เนื่องจากขณะที่เจ้าฟ้ามงกุฎกำลังผนวชอยู่นั้น รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จสรรคตลง บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ในสมัยนั้นเห็นสมควรให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นครองราชสมบัติ เพราะบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะคับขัน กำลังมีศึกสงคราม ต้องการผู้มีความรู้ความสามารถขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ทำให้เจ้าฟ้ามงกุฎตัดสินพระทัย มุ่งศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังต่อไป ได้พยายามศึกษาพระไตรปิฎกอย่างละเอียด แล้วเห็นว่าพระสงฆ์ของไทยในขณะนั้นประพฤติผิดแผกแปลกไปจากพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้อย่างมาก ต่อมาเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้พบพระมอญรูปหนึ่งนามว่า “พระพุทธวังโส” ซึ่งเป็นพระราชาคณะมีสมณศักดิ์ว่า “พระสุเมธาจารย์” อยู่ ณ วัดบวรมงคล เป็นพระผู้ชำนาญพระวินัยปิฎกและสามารถปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้นำระเบียบแบบแผนของพระพุทธวังโสมาปฏิบัติ โดยพระองค์ได้ย้ายมาประทับ ณ วัดราชาธิวาส จากนั้นได้มีบุตรหลานเจ้านาย ขุนนางต่าง ๆ เข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ ศึกษาและปฏิบัติตามเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดพระสงฆ์คณะใหม่อันได้ชื่อว่า “ธรรมยุติกนิกาย”


ด้านเศรษฐกิจ


การปรับปรุงภาษีอากร 
          เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในราชการแผ่นดินมากเพราะเกิดสงครามระหว่งไทยกับญวนซึ่งรบกัน 
อย่างยืดเยื้อเป็นเวลานานถึง 14 ปีเศษ นอกจากนี้ยังต้องใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอีกมาก จึงมีการปรับปรุง การเก็บภาษีอากรดังนี้
          1 . แก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากร เช่น อากรค่านา ในสมัยรัชกาลก่อน ๆ ใช้วิธีเรียกเก็บ หางข้าว (ข้าวเปลือก)
เช่น เก็บในอัตราไร่ละ 2 สัดครึ่ง เจ้าของที่นาจะต้องขนข้าวเปลือกมาส่งฉางหลวงเอง ในสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกเก็บอากรค่านาเป็นตัวเงิน โดยคิดในอัตราไร่ละ 1 สลึงและเก็บค่าขนส่งเข้าฉางหลวงในอัตราไร่ละ 1 เฟื้อง
          2 . ตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่อีก 38 ประเภท เช่น บ่อนเบี้ยจีน หวย ก.ข. ภาษีเบ็ดเสร็จ ภาษีพริกไทย 
ภาษีฝาง ภาษีเกลือ ภาษีไม้แดงเป็นต้น 
          3 . กำเนิดระบบเจ้าภาษีนายอากร ภาษีที่สำคัญ บางอย่างรัฐบาลเป็นผู้เก็บเอง นอกนั้นจะให้เอกชนประมูล
ใครประมูลได้ จะได้ชื่อว่า “เจ้าภาษี” หรือ “นายอากร” เจ้าภาษีนายอากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5 
          4 . มีการยกเลิกภาษีบางชนิด เช่น ภาษีฝิ่น อากรค่าน้ำ ซึ่งเรียกเก็บจากชาวประมง
อากรรักษาเกาะ ซึ่งเรียกเก็บจากผู้เก็บไข่จาระเม็ด (ฟองเต่าตนุ) 
การค้าขายกับต่างประเทศ 
ส่วนใหญ่ทำการค้ากับจีน และค้าขายกับหัวเมืองมลายู พ่อค้าจีนในกรุงเทพฯ ได้ส่งสำเภาไปค้าขายถึงสิงคโปร์และเกาะหมาก การเปลี่ยนแปลงทางการค้าในสมัยรัชกาลที่ 3 มีดังนี้
          1. การค้าโดยการแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายลดน้อยลง
          2. ผ่อนคลายการค้าแบบผูกขาดและยกเลิกประเพณีการค้าขายของทางราชการบางประการ อันเนื่องมาจาก
การทำสนธิสัญญาเบอร์นี่กับอังกฤษ 
          3. เรือสินค้าเริ่มเปลี่ยนจากเรือสำเภามาเป็นเรือกำปั่นใบ ซึ่งคนไทยต่อขึ้นครั้งแรกในเดือน ตุลาคม 2378 โดยหลวงนายสิทธิ์ ( ช่วง บุนนาค )( สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 )
มีการผลิตเงินพดด้วงออกมาหลายตรา ในโอกาสต่าง ๆ กัน มีดังต่อไปนี้ ตราประจำรัชกาล เป็นตรามหาปราสาท ลักษณะเป็นปราสาทหลังคายอดแหลม ยอดแหลมอยู่ในกรอบ ใช้กับเงินพดด้วง ขนาดหนึ่งบาท หนึ่งสลึง และหนึ่งเฟื้อง 
            ตราครุฑเสี้ยว ใช้กับเงินพดด้วงขนาดสิบสลึง 
            ตราดอกไม้ ใช้กับเงินพดด้วงขนาด ตั้งแต่หนึ่งบาท จนถึงขนาดหนึ่งไพ 
            ตราหัวลูกศร ใช้กับเงินพดด้วง ตั้งแต่ขนาดหนึ่งสลึงลงมา 
            ตราใบมะตูม ใช้กับเงินพดด้วงที่ออกมาเป็นที่ระลึก มีขนาดหนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง สองไพ และหนึ่งไพ 
            ตราเฉลว ใช้กับเงินพดด้วงขนาดหนึ่งบาท ไม่มีตราแผ่นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น